TH   EN

TIMELINE

วิวัฒนาการการพัฒนาที่อยู่อาศัย

2488-2495

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านเรือนจำนวนมากได้ถูกทำลายไป เกิดปัญหาความขาดแคลนที่อยู่อาศัย รัฐจึงได้จัดตั้งอาคารสงเคราะห์แห่งแรกโดยกรมประชาสงเคราะห์ เริ่มต้นด้วยการสร้างบ้านไม้เรือนแถวให้เช่าที่ถนนรางน้ำ

2496-2503

ช่วงนี้ผู้คนอพยพเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯเป็นจำนวนมาก อยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่นแออัด เริ่มเกิดแหล่งเสื่อมโทรม รัฐจึงแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้ปานกลาง ด้วยการจัดตั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยจัดทำที่อยู่อาศัยแรกเริ่มให้ประชาชนได้เช่าซื้อ เช่นโครงการพิบูลเวศม์ พิบูลวัฒนาและทุ่งมหาเมฆ

2504-2511

ยุคนี้เป็นยุคที่ประเทศไทยได้ใช้แผนพัฒนาฉบับที่ 1 อย่างจริงจัง ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว คนอพยพเข้าในกรุงเทพฯกันมากขึ้น รัฐจึงพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบแฟลตขึ้นมาหลายโครงการ เช่น แฟลตดินแดงและแฟลตห้วยขวาง อีกทั้งภาคเอกชนก็เริ่มลงทุนพัฒนาบ้านจัดสรรขึ้นบ้าง โดยมีบ้านจัดสรรเอกชนแห่งแรกคือ หมู่บ้านมิตรภาพที่อ่อนนุช

2512-2519

การเคหะแห่งชาติถูจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในยุคนี้ ในปี พ.ศ. 2516 รัฐได้เปลี่ยนนโยบาย จากการรื้อแหล่งเสื่อมโทรมมาเป็นการปรับปรุงและสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ตามความสามารถในการจ่ายของผู้อยู่อาศัย รวมไปถึงการจัดระเบียบเมืองอีกด้วย

2520-2527

ในช่วงปี พ.ศ. 2520 เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลไม่มีงบมากพอในการจัดทำที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย จึงมีนโยบายที่จะอุดหนุนเฉพาะการก่อสร้างบ้านบางส่วนและสาธารณูปโภคเท่านั้น ประกอบการออก พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ทำให้ที่อยู่ประเภทอาคารสูงเพิ่มมากขึ้น โครงการบ้านจัดสรรขยายตัว การตลาดเกิดการแข่งขันสูงที่เน้นขายคุณภาพชีวิตภายในโครงการ

2528-2535

เศรษฐกิจในโลกและไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เจริญเติบโต ประเทศไทยเข้าสู่ยุคฟองสบู่อย่างเต็มตัว บ้านมีลักษณะพร้อมอยู่และสมบูรณ์ในตัวเอง อีกทั้งรัฐยังสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกเพื่อผู้มีรายได้น้อย ด้วยการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นกรณีพิเศษ

2536-2543

พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐบาลประกาศลอยค่าเงินบาท ทำให้ธุรกิจหลายๆแห่งปิดกิจการลง ธุรกิจอสังหาฯ ต้องหยุดการสร้าง หลายโครงการถูกนำมาขายทอดต่อในตลาด ในปลายยุคนี้เกิดขนส่งรถไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดเกิดขึ้นตามแนวรถไฟฟ้าจำนวนมาก

2544-2551

เป็นยุคเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังวิกฤติ เอกชนกระจายการสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบออกสู่พื้นที่ปริมณฑล ส่วนภาครัฐก็ส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองได้มีบ้านเป็นของตนเอง ด้วยการพัฒนาโครงการบ้านเอื้ออาทรและบ้านมั่นคง เป็นจำนวนเกือบ 1 ล้านหน่วย

2552-2559

ยุคนี้ภาคเอกชนเริ่มกระจายตัวออกสู่ปริมณฑลและต่างจังหวัดมากขึ้น เริ่มมีแนวความคิดเรื่องสังคมผู้สูงอายุ จึงเกิดเกิดแนวแนวทางการออกแบบที่อยู่อาศัยที่สามารถรองรับคนได้ทั้ง 3 Generation อีกทั้งยังเป็นยุคเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ทำให้ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เริ่มมีการพัฒนาสมาร์ทโฮมให้ตอบโจทย์กับชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน