พ.ศ. 2528 - 2535

ยุคที่ 6 ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ การลงทุนเฟื่องฟู อสังหาฯ เติบโต



สถานการณ์เศรษฐกิจโลกฟื้นจากภาวะชะลอตัวขึ้น ประกอบกับนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศไทยขยายตัวอย่างอย่างรวดเร็ว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด ผลพวงจากการประกาศใช้ พรบ.อาคารชุดในยุคก่อนหน้านี้ ทำให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนในการทำธุรกิจด้านอาคารชุดเพิ่มมากขึ้น หลังปรับเปลี่ยนนโยบายไปเป็นการรัดเข็มขัดประหยัดงบประมาณสนับสนุนในยุคก่อนหน้า รัฐบาลหันมาสนับสนุนการจัดหา จัดสร้างบ้านสำหรับประชาชนได้อย่างเต็มกำลังอีกครั้งหนึ่ง รัฐได้ออก พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อควบคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม โดยให้บ้านมีลักษณะพร้อมอยู่และสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่สร้างเป็นบ้านสร้างบางส่วนอีกต่อไป

โครงการบ้านจัดสรรที่จัดสร้างโดยภาคเอกชนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยปัญหาการกระจายรายได้ที่ยังกระจุกตัวอยู่แต่ในเขตกรุงเทพมหานคร และตามหัวเมืองใหญ่ๆ ในภูมิภาค ประชาชนก็ยังคงประสบปัญหาด้านทุนทรัพย์เพื่อการจับจอง รัฐจึงต้องออกนโยบายลดภาษีเงินได้และปรับขึ้นเงินเดือนเพื่อช่วยกระตุ้นกำลังการซื้อภายในประเทศ และให้ส่งเสริมการกระจายการลงทุนของภาคเอกชนไปในส่วนภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่เป็นปมสะสมมาตลอดหลายช่วงเวลาที่ผ่านมา

รัฐบาลยังคงเดินหน้าสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ด้วยการส่งเสริมการลงทุนด้วยการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นกรณีพิเศษ ด้วยความพยายามที่จะตอบสนองผู้บริโภคในหลายรูปแบบ ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการแข่งขันทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยตรง เช่น โครงการครู-เมืองทอง ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างคุรุสภาและเมืองทองธานี ก่อสร้างแฟลตราคาพิเศษเพื่อผู้พักอาศัยที่มีอาชีพครูโดยเฉพาะ

โครงการครู-เมืองทอง ในปัจจุบัน

ในยุคเดียวกันนี้ อีกหนึ่งโครงการสำคัญที่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันคือโครงการแฟลตปลาทอง ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ในยุคแรกๆที่เริ่มมีการทำอาคารชุด และยังโด่งดังจากโฆษณาทางทีวีที่ทำให้คนทั่วไปจดจำชื่อแฟลตปลาทองได้เป็นอย่างดีด้วยเพลงโฆษณาติดหูที่ร้องว่าว่า "คุ้มจริงๆ คุ้มจริงๆ ยิ่งกว่าคุ้ม คุ้มทุกสิ่ง คุ้มที่แฟลตปลาทอง" โดยใช้นักแสดงตลกชื่อดังในยุคนั้นเป็นพรีเซนเตอร์ในโฆษณา ทำให้แฟลตปลาทองเป็นที่รู้จักและขายดีมาก

โครงการแฟลตปลาทองในสภาพปัจจุบัน

การเคหะแห่งชาติได้รับการปรับปรุงระบบการทำงาน และกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของให้เป็นหน่วยงานที่กำหนดนโยบายวางแผนและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่อยู่อาศัย แทนการเป็นผู้ผลิตที่อยู่อาศัย ฟื้นฟูชุมชนเมืองที่มีสภาพเสื่อมโทรมให้มีการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยเพื่อยกระดับมาตรฐานการอยู่อาศัย อาทิ การจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียในชุมชน รวมถึงการกำหนดพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและสวนสาธารณะให้เพียงพอต่อสัดส่วนของประชากร จัดทำโครงการเมืองใหม่แบบเมืองบริวาร หรือเมืองที่สมบูรณ์แบบในบริเวณที่เหมาะสม เพื่อลดความแออัดของกรุงเทพมหานคร และภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เร่งส่งเสริมให้ภาคเอกชน เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสาหรับผู้มีรายได้น้อย และจัดตั้ง "สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง” (พชม.) ขึ้นในปี พ.ศ. 2535 เพื่อรองรับการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและความยากจนในเมือง ช่วยแก้ไขปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนของผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมด้านสิทธิการครอบครองที่อยู่อาศัยของคนไทยทุกกลุ่ม


ยุคก่อนหน้า | กลับสู่ Timeline | ยุคถัดไป