พ.ศ. 2496 - 2503

ยุคที่ 2 ยุคของอาคารสงเคราะห์



ท่ามกลางกระแสอุดมการณ์การค้าแบบเสรีที่เฟื่องฟูไปทั่วโลก ตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มทิศทางไปในด้านบวก และเป็นบริบทสำคัญที่ก่อให้เกิดการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในด้านต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและภาพรวมของประเทศในทุกๆ ด้าน รวมถึงปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีพ คือ ที่พักอาศัย และแม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 7 ปี แต่ก็นับว่ายุคที่ 2 นี้คือการเปลี่ยนผ่านและเริ่มต้นใหม่ของการจัดสรรพัฒนาที่ดินของไทยโดยแท้จริง เพราะไม่เพียงแต่โครงการปลูกสร้างอาคารที่พักสำคัญหลายแห่งจะถูกสร้างขึ้น แต่ยังหมายรวมถึงเกิดการจัดตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลด้านการจัดสรรที่ดิน ปลูกอาคารที่พักอาศัย สนับสนุนเงินทุนเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีบ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองอีกด้วย

ประเทศไทยเริ่มมีสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2493 หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมืองหลวง จนหลายพื้นที่กลายสภาพถิ่นที่อาศัยแออัด เป็นชุมชนเสื่อมโทรม รัฐบาลจึงจึงต้องออกนโยบายปรับปรุงชุมชนผู้มีรายได้น้อยและแก้ปัญหาด้วยการสร้างอาคารสงเคราะห์เพื่อรองรับและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลและทรงเล็งเห็นความสำคัญของการมีที่อยู่อาศัยที่ดี และเอื้อประโยชน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีประราชโองการโปรดเกล้าให้ตรา “พระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496” และประกาศในใช้ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 ม.ค 2496 ให้จัดตั้ง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. ขึ้น เพื่อเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในกระทรวงการคลัง บนความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ที่สำคัญคือ “เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยตามสมควรแก่อัตภาพ”

บรรยากาศวันเปิด ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้จัดทำโครงการที่อยู่อาศัยในรูปแบบอาคารสงเคราะห์เป็นแห่งแรก คือ โครงการพิบูลย์เวศม์ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2498 ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแรกที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้จัดสร้างขึ้น และเป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรรแรกโดยภาครัฐของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยประเภทเช่าซื้อ เป็นบ้านเดี่ยวที่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนโล่ง มีจำนวนอาคาร 258 หลัง ตั้งอยู่ที่บริเวณพระโขนง คลองตัน (สุขุมวิท 71) บนเนื้อที่ 80 ไร่ (จากเนื้อที่เต็ม 300 ไร่) โดยแต่ละหลังมีที่ดินเฉลี่ยหลังละประมาณ 114 ตารางวา สำหรับการตั้งชื่อว่า “พิบูลเวศม์” มาจากการตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และท่านได้กรุณามาเป็นประธานในพิธีเปิด ต่อมาได้ทำการพัฒนาโครงการอาคารสงเคราะห์ต่อเนื่อง คือ โครงการพิบูลวัฒนา ในปี พ.ศ. 2499 เป็นอาคารสงเคราะห์ชนิดบ้านเดี่ยวที่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนโล่ง ตั้งอยู่บนที่ดินเนื้อที่ 25 ไร่ ถนนพระราม 6 สามเสน มีจำนวน 288 หลัง โดยมีที่ดินเฉลี่ยหลังละ 130 ตารางวา และโครงการทุ่งมหาเมฆ ในปี 2501 เป็นอาคารสงเคราะห์ชนิดบ้านเดี่ยวที่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนโล่ง ตั้งอยู่บนที่ดินเนื้อที่ 76 ไร่ มีจำนวน 52 หลัง โดยมีที่ดินเฉลี่ยหลังละ 96 ตารางวา สำหรับการก่อสร้างในช่วงนั้นใช้แบบบ้านแบบเดียวกัน ในลักษณะรวมกลุ่ม มีถนนหลักและระบบสาธารณูปโภคสำคัญรองรับ จนเกิดเป็นรูปแบบ “สถาปัตยกรรมแนวสภาพแวดล้อมสัมพันธ์” เป็นเคหะชุมชนที่อยู่อาศัยสมบูรณ์แบบ (Complete Housing Community) และเป็นต้นแบบของโครงการหมู่บ้านจัดสรรในประเทศไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมา

โครงการพิบูลย์เวศม์และพิบูลวัฒนา

ในยุคแรกก่อตั้งนี้ การปฏิบัติงานหรือหน้าที่ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ไม่ได้เป็นเพียงสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนเท่านั้น หากยังทำหน้าที่เป็น “ผู้จัดสรรบ้านและที่ดิน” อีกด้วย โดยที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จะจัดสรรที่ดินและสร้างบ้านในลักษณะโครงการอาคารสงเคราะห์เป็นหลัก และต่อยอดไปถึง ให้ความช่วยเหลือส่งเสริมและขยายกิจการก่อสร้างอาคารสงเคราะห์ประเภทเช่าซื้อ ซึ่งธุรกรรมบริการทั้งหลายที่เกิดขึ้น ก็ล้วนแล้วแต่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และสอดรับกับนโยบายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปฐมฤกษ์ของไทย


ยุคก่อนหน้า | กลับสู่ Timeline | ยุคถัดไป