พ.ศ. 2512 - 2519

ยุคที่ 4 ยุคการเคหะแห่งชาติ เพื่อวาระแห่งชาติด้านที่อยู่อาศัย



ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยตกอยู่ในภาวะซบเซา อีกทั้งฐานะด้านสังคมและการเมืองก็เผชิญกับความสั่นคลอน และมีปัญหาอุปสรรคหลายอย่างให้แก้ไขโดยเร่งด่วน แต่รัฐบาลก็ยังเห็นชอบให้จัดตั้ง การเคหะแห่งชาติ ขึ้นในปี พ.ศ. 2516 โดยได้ปรับเปลี่ยนแนวนโยบายจากการรื้อล้างชุมชนผู้มีรายได้น้อย มาเป็นการปรับปรุงแหล่งเสื่อมโทรม และการจัดสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการและความสามารถในการจ่ายของผู้อยู่อาศัย รวมไปถึงการจัดระเบียบเมือง

สภาพชุมชนผู้มีรายได้น้อยคลองเตย ในปี พ.ศ.2513

สภาพชุมชนผู้มีรายได้น้อยคลองเตย ในปี พ.ศ.2513

สภาพชุมชนผู้มีรายได้น้อยคลองเตย ในปี พ.ศ.2513

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ได้ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2515 – 2519 เป็นแผนพัฒนาฯ ที่มุ่งเน้นการกระจายความเจริญสู่ชนบท พยายามลดช่องว่างคนรวยกับคนจน ขยายการผลิตและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน ในปี พ.ศ.2516 ทำให้ราคาน้ามันดิบพุ่งสูงขึ้นถึง 4 เท่า และยังส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างราคาสูงขึ้นถึงร้อยละ 40 ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยจึงได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากมีการขาดแคลนวัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบกับความผันผวนทางการเมือง หรือเหตุการณ์เดือนตุลา 2516 และ 2519 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายเงินผัน และส่งเสริมธุรกิจด้านการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2518 ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินเริ่มฟื้นตัวและขยายตัว

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

สถิติจำนวนประชากรในประเทศที่ขยายตัวจาก 38.4 ล้านคนในปี พ.ศ. 2515 เป็น 43.2 ล้านคนในปี พ.ศ. 2519 และประชากรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเองก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 5.5 ล้านคนในปี พ.ศ. 2515 เป็น 6.4 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2519 หรือเฉลี่ยร้อยละ 4.3 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าอัตราขยายตัวของประชากรทั้งประเทศ อันเป็นผลมาจากการอพยพเข้ามาหางานทาในเขตพระนคร-ธนบุรีที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ปัญหาแหล่งเสื่อมโทรม การขาดแคลนที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และการจัดระเบียบที่อยู่อาศัย เริ่มเข้าขั้นวิกฤต

รัฐบาลจึงออกนโยบายที่จะไล่รื้อแหล่งเสื่อมโทรมและจัดสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นทดแทน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ด้วยการจัดสร้างอาคารสงเคราะห์ราคาถูกให้เช่าซื้อในระยะยาว และได้จัดสร้างโครงการเคหะสงเคราะห์ แห่งแรกขึ้นที่แจ้งวัฒนะและประชานิเวศน์ และหลังจากนั้นจึงจัดตั้ง การเคหะแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515

การเคหะแห่งชาติ พ.ศ, 2516

เมื่อการเคหะแห่งชาติ และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้การควบรวมกิจการและรูปแบบการดำเนินงานที่กระจัดกระจายอยู่ในรูปต่างๆ ให้เป็นหน่วยงานเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งจัดให้มีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ สิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นแก่ผู้อยู่อาศัย ยิ่งไปกว่านั้นคือการยกระดับการพัฒนาผู้อยู่อาศัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ

โดยการเคหะแห่งชาติเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการครั้งแรกใน พ.ศ. 2518 รวมทั้งสิ้นกว่า 11,273 หน่วย กระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยลักษณะโครงการและรูปแบบอาคารเป็น โครงการเคหะสงเคราะห์โดยรัฐสวัสดิการอุดหนุน 100% (Welfare Public Housing) ในช่วงต้นนั้นก่อสร้างด้วยรูปแบบแฟลต 5 ชั้น ที่เป็นรูปแบบเดิมของกรมประชาสงเคราะห์ ต่อมาทางการเคหะแห่งชาติจึงออกแบบใหม่ให้เป็นมาตรฐานของหน่วยงานเอง เช่น แฟลตคลองจั่น บางนา บางบัว และโครงการเคหะสงเคราะห์ตามแนวราบ อย่างบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และบ้านแถว โครงการที่เกิดขึ้นแรกๆในยุคนี้คือโครงการแฟลตบ่อนไก่ แล้วจึงตามมาด้วยโครงการแฟลตห้วยขวาง แฟลตดินแดง และโครงการเคหะคลองจั่น

โครงการแฟลตบ่อนไก่

โครงการแฟลตห้วยขวาง

โครงการแฟลตดินแดง

โครงการเคหะคลองจั่น

ในส่วนของการออกแบบหน่วยพักอาศัยนั้น การเคหะแห่งชาติใช้หลักการ Form follow function ที่เน้นประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่เป็นหลัก และเพื่อลดต้นทุนการก่อสร้าง (Low-cost Housing) โดยตัวบ้านเป็นบ้านสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่ และมีองค์ประกอบแวดล้อมต่างๆ ที่จำเป็นต่อการอยู่อาศัยตามมาตรฐานของการเคหะแห่งชาติ

สำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนนั้น นับว่าเป็นยุคทองของหมู่บ้านจัดสรร โดยประมาณปี พ.ศ. 2513 ได้มีหมู่บ้านขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายโครงการ ซึ่งเป็นการขายที่อยู่อาศัยพร้อมที่ดินและระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมเพรียงไว้ให้ด้วย เช่น หมู่บ้านเสรี และหมู่บ้านเมืองทอง และในระยะเวลาเดียวกัน ธุรกิจการค้าบ้านสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางได้เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว มีหมู่บ้านขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวนบ้านมากกว่า 100 หลังเกิดขึ้นมากมายในแถบชานเมือง อย่างแถบหัวหมาก ซึ่งมีเส้นทางการสัญจรติดต่อค่อนข้างสะดวกและห่างจากตัวเมืองในระยะไม่เกิน 10 กิโลเมตร ได้แก่ หมู่บ้านปัฏฐวิกรณ์ หมู่บ้านสวนสน หมู่บ้านรามอินทรา หมู่บ้านเสรี เป็นต้น ส่วนทางทิศเหนือแถบพหลโยธิน ได้แก่ หมู่บ้านเมืองทอง หมู่บ้านชลนิเวศน์ หมู่บ้านอมรพันธุ์ เป็นต้น ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2514 – 2515 กลุ่มผู้จัดสรรที่ดินหันเข้ามาดำเนินการในธุรกิจเกี่ยวกับที่ดินเป็นจำนวนมาก มีทั้งกลุ่มที่ทำธุรกิจที่ดินและกลุ่มธนาคาร หมู่บ้านในระยะนี้ ได้แก่ หมู่บ้านสัมมากร หมู่บ้านพฤกษชาติ หมู่บ้านเมืองทอง 2-3 เป็นต้น โดยการขายบ้านในระยะนี้เป็นการขายรวมบ้านและที่ดินในราคาระหว่าง 150,000 – 300,000 บาทต่อหลัง ส่วนใหญ่เป็นบ้าน 3 ห้องนอน เป็นจำนวนสูงสุดถึงเดือนละ 80 – 100 หลัง สำหรับหมู่บ้านที่ได้รับความนิยมและมียอดขายสูง เช่น หมู่บ้านอมรพันธุ์ และหมู่บ้านเสรี เป็นต้น แต่โดยอัตราเฉลี่ยในขณะนั้นหมู่บ้านขนาดใหญ่สามารถขายบ้านได้เดือนละประมาณ 30 – 50 หลังเป็นอย่างต่ำ เช่น หมู่บ้านรามอินทรา และหมู่บ้านปัฏฐวิกรณ์ เป็นต้น

บ้านและผังโครงการหมู่บ้านเมืองทอง

การแบ่งลักษณะของหมู่บ้านจัดสรรมักจะใช้ขนาดพื้นที่ดินเป็นเกณฑ์ ประกอบกับผู้มีรายได้ปานกลางในระยะนั้นยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยที่แยกอยู่เป็นอิสระของตัวเอง มีพื้นที่ว่างรอบอาคารขนาดพอสมควรสำหรับสนามหญ้าให้เด็กวิ่งเล่นและปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ อีกทั้งราคาที่ดินแถบชานเมืองในยุคนั้นยังมีราคาถูกอยู่มาก เนื่องจากที่ดินเดิมเป็นไร่นา โดยมีราคาประมาณ 200 – 400 บาทต่อตารางวา จึงทำให้ผู้ซื้อสามารถซื้อที่ดินที่มีขนาดใหญ่ได้ แล้วนำมาจัดสรรแบ่งขาย แบ่งย่อยที่ดิน ซึ่งมีตั้งแต่ 80 ตารางวา ซึ่งสามารถปลูกบ้านเดี่ยวได้ หรือเพิ่มขนาดพื้นที่เป็น 100 ตารางวา 200 ตารางวา และ 400 ตารางวา

อย่างไรก็ดี หมู่บ้านจัดสรรก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เนื่องจากผู้ซื้อมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกซื้อบ้านมากขึ้น และสามารถเปรียบเทียบกันระหว่างโครงการได้ ทำให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพของหมู่บ้านจัดสรร เช่นการให้มีจัดสาธารณูปโภคต่างๆ มีถนนที่กว้างขึ้น มีสนามเด็กเล่น สถานที่พักผ่อน และเล่นกีฬา ตลอดจนโรงเรียน รวมถึงระบบไฟฟ้า ประปา ทางระบายน้ำและระบบโทรศัพท์ เพื่อดึงดูดใจลูกค้ามากขึ้น ตัวอาคารเองก็พัฒนาให้ดีขึ้น มีมาตรฐานสูงขึ้นตามลำดับ


ยุคก่อนหน้า | กลับสู่ Timeline | ยุคถัดไป