พ.ศ. 2504 - 2511

ยุคที่ 3 ยุคเอกชนตอกหมุดหมายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์



จากวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 และ 2 ที่เริ่มประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2504 ที่มุ่งเน้นการยกมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้มีระดับสูงขึ้นกว่าเดิม และให้บริการแก่ประชาชนแต่ละคนให้สูงมากขึ้น และจะต้องไปถึงประชาชนโดยทั่วถึงตามส่วนที่เป็นธรรมและประชาชนทุกคนจะต้องได้รับประโยชน์จากพัฒนาการเศรษฐกิจตามสมรรถภาพของตน ภาคส่งเสริมกิจกรรมและการลงทุนของภาคเอกชนโดยรัฐบาลจะดำเนินงานเฉพาะงานพื้นฐานที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม รัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในช่วงเวลานี้คือรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ยังคงนับว่าการเจริญเติบโต และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ การเร่งรัดพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจ เน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Facilities) ได้แก่ การสร้างระบบชลประทาน การสร้างพลังงาน ถนน ทางหลวงต่างๆ ทางรถไฟและการคมนาคมอื่น ๆ รวมทั้งโครงการบริการต่าง ๆ (Services Project) เพื่อรากฐานรองรับการเจริญเติบโตของประเทศทั้งด้านอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม

แผนที่กรุงเทพ แสดงบริเวณที่อยู่อาศัย ในช่วงหลังการพัฒนาอุตสาหกรรม พ.ศ.2503

ตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี พ.ศ. 2504 การพัฒนาประเทศก็ได้มุ่งสู่ระบบการผลิตทางอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน กรุงเทพมหานครกลายเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาประเทศด้านอุตสาหกรรม โดยมีทั้งท่าเรือ ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ ถนนหนทาง และเส้นทางการขนส่งและคมนาคมทุกชนิดมารวมกันที่กรุงเทพฯ ศูนย์กลางการเงิน การบริหาร สาธารณูปโภค สาธารณูปการที่มีคุณภาพ เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่พัฒนาขึ้นและมีธุรกิจหมุนเวียนมากที่สุด มีการจ้างงานมากที่สุด ประชากรจึงหลั่งไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยในปี พ.ศ. 2503 – 2513 ประชากรในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นในอัตรา 6.1% เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศที่เพิ่มขึ้นในอัตรา 3.1%

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 – 2509)

แต่แล้วเศรษฐกิจที่กำลังเฟื่องฟูของไทย กลับเกิดภาวะชะงักงันเมื่อวิกฤติน้ำมันครั้งใหญ่ลุกลามมาจากตะวันออกกลาง ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าที่ดิน และค่าเช่าบ้านดีดตัวสูงขึ้น รัฐบาลจึงหันมาใช้นโยบายสนับสนุนการก่อสร้างบ้านในราคาถูก ในช่วงนั้นมีผู้คนอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวนมาก มีอัตราการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 0.7 ต่อปี ปัญหาที่ตามมาคือปัญหาสังคมและปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยอยู่กันอย่างหนาแน่น และประชาชนส่วนมากไม่มีมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะถือครองกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย แหล่งเสื่อมโทรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเขตพระนครและธนบุรี รัฐบาลพยายามแก้ไขบรรเทาปัญหานี้ด้วยการนำรูปแบบอาคารที่อยู่อาศัยแบบแฟลต (Flat) เข้ามาใช้ เนื่องจากเห็นว่าสามารถประหยัดเนื้อที่ในแนวราบ ช่วยลดต้นทุนด้านที่ดิน รองรับผู้พักอาศัยได้มาก มีโครงสร้างที่ทนทาน และผู้อยู่อาศัยไม่สามารถต่อเติมแฟลตเป็นโครงสร้างอื่นจนเกิดความไม่เป็นระเบียบได้อีก

แฟลตดินแดง

พ.ศ. 2506 แฟลตดินแดง โมเดลแรกของอาคารสงเคราะห์แบบแฟลตของไทยก็เกิดขึ้น โดยมีจำนวนห้องพักถึง 5,000 ห้อง และติดตามมาด้วยโครงการแฟลตห้วยขวางในเวลาต่อมา นอกจากนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2505 - 2511 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ยังได้จัดให้มีที่ดินเพื่อการเช่าซื้อหลายแห่ง ได้แก่ พัฒนเวศน์ งามวงศ์วาน บางเขน บางบัว

แฟลตห้วยขวาง

เมื่อภาครัฐได้นำร่องและปูแนวทางเรื่องโครงการที่พักอาศัยขนาดใหญ่ในชุมชนอย่างประสบความสำเร็จ ภาคเอกชนก็เริ่มเล็งเห็นช่องทางและขยับเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยกันมากขึ้น โดยเริ่มลงทุนในธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรเต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทยคือ โครงการหมู่บ้านมิตรภาพ ในปี พ.ศ. 2509 เป็นบ้านเดี่ยวประมาณ 800 หลัง โดยบริษัท เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง จำกัด (Southeast Asia Construction Co., Ltd.) และได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยให้มีบ้านเป็นของตนเอง สามารถยื่นขอกู้เพื่อนำไปเช่าซื้อบ้านในโครงการนี้ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ มีระยะเวลาผ่อนชาระคืน 20 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก ธุรกิจการสร้างหมู่บ้านจัดสรรผ่อนส่งระยะยาวของเอกชนนั้นเริ่มมีหนทางที่สดใส จากนั้นเอกชนอีกหลายรายก็เริ่มหันมาจับธุรกิจสร้างบ้านจัดสรรกันมากขึ้น และเริ่มเกิดรูปแบบที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เช่น ทาวน์เฮ้าส์ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองขีดความสามารถในการถือครองบ้านพักของผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมกรุงเทพมหานครช่วงนั้นเป็นอย่างมาก

หมู่บ้านมิตรภาพ (พ.ศ. 2509)


ยุคก่อนหน้า | กลับสู่ Timeline | ยุคถัดไป