พ.ศ. 2520 - 2527

ยุคที่ 5 ยุคบ้านเพื่อการพึ่งพาตนเอง



ภาพรวมทางเศรษฐกิจในช่วงรอยต่อระหว่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 และ 5 นี้ ความจำเป็นเร่งด่วนคือฟื้นฟูความตกต่ำของเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำของประชากรเมืองและชนบท จากการสำรวจการเคหะแห่งชาติพบว่า เมื่ออัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรจาก 47.9 ล้านคน เป็น 53 ล้านคน คาดการณ์ว่าประชาชนจะขาดแคลนที่อยู่อาศัยถึง 743,998 หน่วย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ และสวนทางกับตัวเลขทางเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศที่ตกต่ำลงจากหลายเหตุปัจจัย

เมื่อต้องดำเนินนโยบายการบริหารประเทศแบบรัดเข็มขัด การจัดหาที่อยู่อาศัยให้ประชาชนโดยรัฐบาลจำเป็นต้องปรับตัวตามไปค่อนข้างมาก เนื่องจากจากขาดงบประมาณสนับสนุนการจัดหาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย ทำให้รัฐต้องหันมาอุดหนุนเฉพาะการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเท่านั้น สอดคล้องกับแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติที่จำเป็นต้องมุ่งเน้นให้ผู้อยู่อาศัยพึ่งพาตนเองและลดการอุดหนุนจากรัฐ โดยการเคหะแห่งชาติจะให้การอุดหนุนค่าก่อสร้างเฉพาะระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ และนี่จึงเป็นที่มาของ การสร้างบ้านบางส่วน ในโครงการ Site and Service ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยการเคหะแห่งชาติ

โครงการ Site and Service การเคหะทุ่งสองห้อง

แนวความคิดการทำที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับความสามารถในการจ่าย และรายได้ของผู้ซื้อ (Affordable housing) หลักการคือ รัฐจะจัดสร้างที่อยู่อาศัยบางส่วน หรือที่เรียกว่า “แกนบ้าน” (Core House) เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการจ่ายของผู้ที่มีกำลังน้อยมาก (Affordable Housing) หรืออาจเรียกว่าเป็น บ้านที่ต่อเติมและเติบโตได้ (Extendable and Growing Housing) โดยมีโครงการเคหะชุมชนทุ่งสองห้อง เคหะชุมชนลาดกระบัง เป็นโครงการนำร่อง และยังนำไปสู่แนวความคิดการสร้างเมืองใหม่ที่สมบูรณ์ในตัวเองเพื่อจำกัดการเติบโตของเมือง โดยเริ่มต้นที่โครงการบางพลีเป็นแห่งแรก

ระยะต่อมา ภาครัฐเริ่มดำเนินนโยบายกระจายการพัฒนาเมืองเพื่อชะลอการอพยพเข้าสู่กรุงเทพมหานคร โดยนำโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ไปสู่ส่วนภูมิภาค ส่งผลให้มีการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยและผู้รายได้ปานกลางทั้งในเมืองและในต่างจังหวัด หรือที่เรียกว่า โครงการเมืองใหม่ (New Town) เป็นการสร้างที่อยู่อาศัยที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมของการอยู่อาศัยควบคู่กันไปด้วย และจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกประการคือ เมื่อมีการออกพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 โดยกำหนดให้เจ้าของทุกคนในอาคารเดียวกัน ต่างสามารถถือกรรมสิทธิ์เป็นทรัพย์สินส่วนตัวแยกออกจากกันและขณะเดียวกันให้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนรวมที่ใช้ร่วมกันในอาคารนั้นพร้อมๆ กันไปด้วย มีการจดทะเบียนอาคารชุดเป็นทางการโดยมีการออกหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด ทำให้ที่อุปสงค์ของการอาศัยประเภทอาคารสูงมีเพิ่มมากขึ้น ตลาดโครงการบ้านจัดสรรเริ่มขยายตัวและได้รับแรงหนุนต่อเนื่อง

โครงการเมืองใหม่บางพลี

ทางด้านเอกชน การพัฒนาโครงการหมู่บ้านจัดสรรมีความซบเซาลงเช่นกัน หลายโครงการหมู่บ้านจัดสรรยกระดับตัวเองขึ้นเป็นบ้านจัดสรรสำหรับผู้มีรายได้สูง เช่น หมู่บ้านปัญญา หัวหมาก เป็นต้น ส่วนหมู่บ้านจัดสรรสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางถูกลดขนาดลงมาเหลือเพียงชั้นเดียว ตั้งอยู่ในที่ดินที่มีขนาดเล็กลงเพียง 50 ตารางวา และจากก่อนหน้านี้มีห้องคนใช้ด้วย ก็ได้เอาห้องคนใช้ออกไปในยุคนี้ แต่เพิ่มคุณภาพของวัสดุและความประณีตด้านฝีมือมากขึ้น เช่น หมู่บ้านธารทิพย์ หมู่บ้านทับแก้ว สุขาภิบาล 2 (ภาพที่ 5.16) เป็นต้น ทั้งนี้ราคาบ้านจัดสรรสำหรับผู้มีรายได้ปานกลาง ในปี พ.ศ. 2524 ราคาขายหลังละ 550,000 บาท ซึ่งสูงกว่ายุคก่อนหน้าถึง 2.5 – 3 เท่า และยังมีเนื้อที่ใช้สอยของอาคารก็น้อยกว่าเดิม จาก 3 ห้องนอนหน้าเหลือ 2 ห้องนอน มีเนื้อที่ดิน 50 – 80 ตารางวา อีกทั้งกลุ่มผู้พัฒนาโครงการก็หันมาพัฒนาโครงการหมู่บ้านจัดสรรราคาถูกมากขึ้น เช่น หมู่บ้านไทยสมุทร ที่มีการสร้างบ้านเป็นห้องนอนเดียว ไม่มีห้องคนใช้ ไม่มีที่จอดรถ หันหลังชนกันเป็นแถว ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้มีรายได้น้อย

ตัวบ้านและผังพื้นบ้านของหมู่บ้านทับแก้ว

ในช่วงปี พ.ศ. 2525 ได้เกิดโครงการหมู่บ้านเสนานิเวศน์ ที่มีจุดเด่นคือไม่ได้เป็นเพียงแค่การขายบ้านจัดสรร แต่เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ส่วนกลาง เช่น สระว่ายน้ำ สโมสร สนามเด็กเล็ก เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย อีกทั้งยังสามารถเข้ามาดูบ้านตัวอย่าง ก่อนเข้าอยู่จริงได้ที่โครงการ และมีการติดต่อตามผลจากทางโครงการ (Direct sale) ถือเป็น "ต้นแบบ" ธุรกิจบ้านจัดสรรจนถึงปัจจุบัน

หมู่บ้านเสนานิเวศน์

นอกจากหมู่บ้านจัดสรรแล้ว ในยุคนั้นยังมีการสร้างรูปแบบที่อยู่อาศัยแบบใหม่ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทาวน์เฮ้าส์หรือคอนโดมิเนียม โดยที่ทาวน์เฮ้าส์ (Townhouse) คือ บ้านในตัวเมือง หรือบ้านแถวในเมืองที่มีอาคารยาวติดกัน เป็นอาคารสูง 3 – 4 ชั้น ตั้งอยู่ในทำเลใจกลางเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทาวน์เฮ้าส์สำหรับผู้มีรายได้สูง ทาวน์เฮ้าส์ชานเมืองจะมีราคาตั้งแต่ 1.5 ล้านบาทต่อหน่วย แต่ทาวน์เฮ้าส์ใจกลางเมือง มีราคาประมาณ 3.5 ล้านบาทต่อหน่วย โดยมีเนื้อที่ดินประมาณ 30 – 40 ตารางวา ส่วนคอนโดมิเนียม (Condominium) เป็นที่อยู่อาศัยที่เป็นอาคารสูง ภายในอาคารแบ่ง เนื้อที่ใช้สอยเฉพาะแต่ละหน่วย โดยทำการซื้อขายเป็นหน่วยๆ โดยโครงการคอนโดมิเนียมที่สำคัญในยุคนี้ ได้แก่ แกรนด์วิลล์เฮ้าส์ที่ซอยสุขุมวิท 24 ไทปิงคอนโดมิเนียม (ภาพที่ 5.17) ที่ซอยเอกมัย สยามเพนเฮ้าส์ มี 2 โครงการ ที่ซอยสุขุมวิท 8 และซอยอรรถการประสิทธิ์ ถนนสาทร กรุงเทพฯ และ คอนโดมิเนียมพระปิ่นเกล้า ถนนพระปิ่นเกล้าตัดใหม่

แบบจำลองโครงการไทปิงคอนโดมิเนียม


ยุคก่อนหน้า | กลับสู่ Timeline | ยุคถัดไป