พ.ศ. 2488 - 2495

ยุคที่ 1 ยุคอาคารสงเคราะห์เมื่อแรกสร้าง และแรกเริ่มวางผังเมือง



หลังสงครามโลกครั้งที่สอง คลื่นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้เกิดขึ้นและส่งผลกระทบไปทั่วโลกและประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในช่วงรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีส่วนทำให้การค้าของไทยขยายตัว สามารถส่งออกสินค้าที่เป็นยุทธปัจจัยได้ อย่างเช่น ข้าว ยาง ดีบุกปละผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดการเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจในยุคนั้น อีกทั้งสหรัฐอเมริกายังต้องการให้ไทยมีนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิด และอนุญาตให้ทุนของเอกชนทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงรับแขกเมือง ลอร์ด เมาน์แบตเตน ตัวแทนของสหราชอาณาจักรอังกฤษ เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง

ด้วยระบบทุนนิยมที่สร้างโฉมหน้าใหม่ของระบบเศรษฐกิจไทย อัตราการเพิ่มของประชากรที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การโยกย้ายถิ่นฐานจากชนบทสู่เมืองมากเป็นประวัติการณ์ เมืองยิ่งเติบโตขึ้นและสอดรับกับความต้องการการจับจองพื้นที่พักอาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางก็ยิ่งเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีความต้องการพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น ภาคเอกชนหรือนายทุนที่มีกำลังในการซื้อที่ดินและนำมาปล่อยเช่ากับประชาชนในราคาที่สูง ทำให้รัฐบาลออกพระราชบัญญัติการเช่าที่นา พ.ศ. 2493

พื้นที่ในการทำเกษตรกรรมในยุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ ยังผลให้รัฐบาลไทยเริ่มต้นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรองรับการเติบโตของชุมชนเมือง การสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาส เด็ก คนชรา ผู้พิการ และบรรเทาภาวะความขาดแคลนที่พักอาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยตามแหล่งเสื่อมโทรมต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงการออกแบบผังเมืองเพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นดำเนินการในการวางผังเมืองต่างจากในอดีตที่เป็นไปตามกรณีเฉพาะพระราชบัญญัติและพระราชกำหนด เปลี่ยนมาประกาศใช้พระราชบัญญัติผังเมืองจริงจัง เพื่อสร้างเมืองใหม่ ในปี พ.ศ. 2495

รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สนับสนุนงบประมาณลงทุนสร้างอาคารสงเคราะห์ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้เช่าพักอาศัยและเช่าซื้อหลายโครงการ พร้อมกันนั้นยังส่งเสริมให้ราษฎรได้ถือกรรมสิทธิ์ครอบครองที่พักอาศัยของตนเองตามกำลังทรัพย์และความสามารถของตน โดยมีกองอาคารสงเคราะห์ สังกัดกรมประชาสงเคราะห์ เป็นหน่วยงานดูแลรับผิดชอบหลัก

โครงการเคหะสถานสงเคราะห์แห่งแรกที่ดำเนินการสร้างโดยรัฐบาลของไทย ปฐมฤกษ์วางฐานรากและก่อสร้างราวปี พ.ศ. 2493 คือ โครงการอาคารสงเคราะห์บ้านแถว ซอยรางน้ำ ราชวิถี เป็นโครงการอาคารสงเคราะห์ชนิดบ้านแถว โดยตั้งบนในที่ดินที่อยู่อยู่ระหว่างถนนราชวิถีกับซอยรางน้ำ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ต่อกันเป็นชุดๆ ชุดสั้นมี 6 คูหา ชุดยาวมี 16 คูหา โดยในโครงการนี้มีเนื้อที่ 20 ไร่เศษ มีจำนวน 237 คูหา โครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลสร้างเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของทหารผ่านศึกและประชาชนที่สูญเสียบ้านเรือนจากภัยระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยให้เช่าคูหาละ 1 ครอบครัว เนื้อที่ดินคูหาละประมาณ 14 – 15 ตารางวา มีการจัดผังบริเวณโดยมีถนน ที่ว่าง สนามเด็กเล่น โรงรถรวมและร้านค้าในบริเวณชุมชนนี้ด้วย อาคารสงเคราะห์ชุดนี้สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2494 อยู่ในความดูแลของกรมประชาสงเคราะห์

อาคารให้เช่า ซอยรางน้ำ ถนนราชวิถี เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2493

และยังสร้างต่อเนื่องไปอีก 3 โครงการ ได้แก่
- อาคารชั่วคราวกึ่งถาวร แบบเรือนไม้ 2 ชั้น ย่านดินแดง รองรับผู้พักอาศัยได้ 1,302 ครอบครัว
- อาคารเรือนแฝดแบบตึก 2 ชั้น ย่านเชิงสะพานยมราช รองรับผู้พักอาศัยได้ 114 ครอบครัว
- อาคารเรือนไม้ 2 ชั้น กึ่งถาวร ที่เขตห้วยขวาง รองรับผู้พักอาศัยได้ 1,700 ครอบครัว และถือว่าเป็นโครงการเคหะสงเคราะห์เร่งด่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

ดอกผลของโครงการเคหะสงเคราะห์ทั้ง 4 แห่ง และโครงการต่อเนื่องอื่นๆ ที่เกิดตามมานั้น หากชี้วัดด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจก็อาจมองว่าเป็นการลงทุนที่รอเก็บเกี่ยวประโยชน์ในระยะยาว ทว่าเมื่อพิจารณาจากมุมของการพัฒนาทางสังคมแล้ว ผลอันเป็นที่ประจักษ์อย่างแรกคือ เป็นการวางรากฐานสำคัญหรือเป็นพิมพ์เขียวที่ดีให้กับการพัฒนาที่อยู่อาศัยของไทยในยุคต่อๆ มา เพราะมีรูปแบบที่อยู่อาศัยหลากหลาย วิธีการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมีหลายแบบ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ รวมไปถึงการจัดระเบียบชุมชน การวางผังเมืองเพื่อจัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์รอบด้าน โดยมีผู้รับผลประโยชน์สูงสุดก็คือประชาชนคนไทยทุกคน


กลับสู่ Timeline | ยุคถัดไป