พ.ศ. 2536 - 2543

ยุคที่ 7 ยุคต้มยำกุ้ง การทรุดตัวในแนวดิ่งของธุรกิจที่อยู่อาศัย



ช่วงปลายยุคที่ 6 ต่อเนื่องถึงต้นยุคที่ 7 นั้น เศรษฐกิจและธุรกิจการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทยนับว่าอยู่ในช่วงเติบโตเบ่งบานเป็นอย่างยิ่ง เม็ดเงินจากทั้งจากภาครัฐ และเอกชนที่ทุ่มทุนลงไปในหลายๆ โครงการและกำลังดำเนินไปอย่างเรียบร้อยสวยงาม

ในยุคนี้ การเคหะแห่งชาติได้ทำการเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ เป็นอาคารสูง 16 ชั้น เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2537 โดยมี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานในพิธี

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานในพิธีเปิดเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ของการเคหะแห่งชาติ

แต่แล้วในปี พ.ศ. 2540 กลับเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศไทย หรือวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง เนื่องมาจากรัฐบาลประกาศลอยค่าเงินบาท จาก 27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ธุรกิจและธนาคาร และสถาบันการเงิน หลายๆ แห่งต้องปิดกิจการลง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องหยุดการสร้าง บางโครงการถูกนามาขายทอดต่อในตลาด

ภาพข่าวรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท พ.ศ. 2540

การเคหะแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ปล่อยสินเชื่อซื้อบ้านในโครงการเอกชนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ รัฐบาลต้องหันไปขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนระหว่างประเทศ (IMF) และเร่งรัดการส่งออกสินค้าที่เป็นรายได้หลัก เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจากภาวะตกต่ำ ในปีต่อๆ มามีการพัฒนาระบบการคมนาคมแบบราง BTS MRT ทำให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้า และได้กลายเป็นทำเลที่พักอาศัยและย่านธุรกิจที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

อาคาร สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ อนุสรณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง

ส่วนนโยบายภาพรวมของรัฐบาล โดยการเคหะแห่งชาติ ได้จัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและแก้ไขปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อย ปี พ.ศ. 2540 - 2544 ซึ่งมีแนวคิดสำคัญคือ
- เมืองน่าอยู่ โดยมุ่งเน้นการกระจายความเจริญไปภูมิภาค พัฒนาแบบบูรณาการ โดยยึดถือเรื่องแตกต่างและเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น เช่น ในโครงการเมืองน่าอยู่ระยอง รวมทั้งดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
- แนวคิดเคหะชนบท
- แนวคิดบ้านเช่าราคาถูก
- แนวคิดโครงการรับจ้างทำ
- แนวคิดการแก้วิกฤตอสังหาริมทรัพย์

ผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ไม่เพียงแต่กระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือนักธุรกิจเท่านั้น แต่ก็ยังรวมถึงประชาชนทั่วไปในระดับครัวเรือนอีกด้วย เพราะหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไป ครัวเรือนมีขนาดเล็กลง การเคหะแห่งชาติคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการที่อยู่อาศัยกว่า 635,000 หน่วย หรือเพิ่มมากขึ้นกว่า 1 เท่าตัวก่อนการลอยตัวค่าเงินบาท

แต่ในวิกฤต ก็ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ เปิดสำหรับผู้มีรายได้น้อย สืบเนื่องจากแนวความคิดใหม่ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยภาคเอกชน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการตลาดจาก ขายก่อนสร้าง มาเป็นสร้างเสร็จก่อนขาย ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเข้าอยู่ได้ทันที โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเสี่ยงว่าโครงการจะเสร็จทันเข้าอยู่อาศัยหรือไม่ เท่ากับเป็นการช่วยลดภาวะที่อยู่อาศัยล้นตลาด และค่อยๆ เพิ่มเงินทุนหมุนเวียนเข้าสู่วงการอสังหาริมทรัพย์ที่อาจจะเรียกได้ว่าทรุดตัวครั้งยิ่งใหญ่และปิดกิจการไปหลายโครงการ ให้พอได้พลิกฟื้นขึ้นมาต่อสู้ในสังเวียนธุรกิจอีกครั้ง

บ้านจัดสรรที่สร้างขึ้นในยุคนี้ ทำการตลาดแบบสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่


ยุคก่อนหน้า | กลับสู่ Timeline | ยุคถัดไป