ที่มาและความสำคัญ

ในช่วงปี 2555-57 คณะผู้วิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สถ.มธ.) ได้สำรวจข้อมูลเพื่อทำการวิจัยภายใต้การสนับสนุนขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยื่น (องค์การมหาชน) (อพท.) ซึ่งมีสำนักงานย่อยที่เรียกว่า สพพ.4 หรือ อพท.สุโขทัย ทำหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร และชุมชนในบริเวณใกล้เคียงกับแหล่งมรดกโลกดังกล่าวในจังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชร โดยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสนับสนุนการสำรวจพื้นที่เพื่อให้ได้มาซึ่งหัวข้อการวิจัยที่สามารถส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมโดยชุมชนและตอบโจทย์ความต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนของชุมชนในพื้นที่ ซึ่งกระบวนการในเบื้องต้นเป็นไปอย่างเรียบง่ายแต่กระทำได้โดยยากลำบาก คือการเดินทางไปพูดคุยสัมภาษณ์แบบสุ่มกับชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบของ สพพ.4 ตั้งแต่ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ทางทิศเหนือ ไล่เรียงมาจนถึง ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร ทางทิศใต้


ในหลายหัวข้อวิจัยที่คณะผู้วิจัยได้ค้นพบปัญหาของพื้นที่และนำเสนอ ซึ่งทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมในพื้นที่เพื่อนำมาพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการและเป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด มีหัวข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในชุมชนอยู่อาศัยที่เชื่อมโยงคุณค่าแหล่งมรดกโลกสุโขทัย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทั้งชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ให้ข้อมูลเบื้องต้นมาเพื่อขบคิด เช่น มีการศึกษาข้อมูลเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับโบราณสถานโดยเฉพาะซากวัดเก่าในอุทยานประวัติศาสตร์ทั้งสามแห่ง แต่ไม่มีข้อเสนอแนะที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าบ้านเรือนอยู่อาศัยที่จะสร้างขึ้นใหม่ควรมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับคุณค่าของพื้นที่ คณะผู้วิจัยจึงเริ่มต้นสำรวจโดยคร่าวถึงรูปแบบของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ยังคงพบเห็นได้อยู่ในพื้นที่ เช่น หมู่บ้านไทพวนในตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย บ้านเรือนไม้ในย่านอยู่อาศัยใกล้แม่น้ำยมของอำเภอสวรรคโลกและศรีสัชนาลัย และได้นำเสนอหัวข้อวิจัยเพื่อเริ่มต้นโครงการศึกษาในพื้นที่อำเภอเมืองกำแพงเพชรโดยเฉพาะย่านนครชุม


แม้ย่านนครชุมจะดูเหมือนเป็นพื้นที่หลักในใจ ด้วยเพราะมองเพียงผิวเผินก็พบว่ามีการกระจุกตัวกันอยู่ของบ้านเก่าเหลืออยู่เป็นจำนวนมากพอสมควร แต่กรอบของการวิจัยในครั้งนี้ นอกจากจะเน้นเฉพาะบ้านเรือนอยู่อาศัยแล้ว (เพื่อเติมเต็มข้อมูลด้านสถาปัตยกรรมในพื้นที่ ซึ่งที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมักเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมพุทธศิลป์ เช่น วัดโบราณ) ยังใช้กรอบของพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวพิเศษภายใต้การดูแลของ สพพ.4 เฉพาะที่อยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งได้แก่พื้นที่ 10 ตำบลในอำเภอเมืองกำแพงเพชร คือ ในเมือง นครชุมคลองแม่ลาย ไตรตรึงษ์ ทรงธรรม ท่าขุนราม สระแก้ว เทพนคร หนองปลิง อ่างทอง ซึ่งคณะวิจัยได้ออกสำรวจเบื้องต้นเพื่อหาย่านชุมชนที่มีบ้านเก่าหลงเหลืออยู่ ซึ่งในบางตำบลพอมีอยู่บ้างและคณะผู้วิจัยได้ทำการสำรวจเก็บข้อมูลไว้บางส่วน แต่ในที่สุดแล้วได้ตัดสินใจเลือกกรณีศึกษาเฉพาะที่เป็นบ้านเรือนอยู่อาศัยในย่านนครชุมเท่านั้นเพื่อนำเสนอข้อมูลวิเคราะห์ในขั้นรายละเอียด นอกจากนี้ยังมีกรอบของช่วงยุคสมัย โดยบ้านเก่าที่เลือกทำวิจัยทุกหลังน่าจะเริ่มก่อสร้างอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันคือยุคที่ยังมีการทำป่าไม้ในจังหวัดกำแพงเพชร (ก่อนปี 2500 โดยประมาณ)


ในแง่ของประวัติศาสตร์พบว่า จากการทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับย่านนครชุม มีการศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโบราณสถานสำคัญและบุคคลสำคัญเป็นหลัก เช่น พระบรมธาตุนครชุม และพะโป้กะเหรี่ยงซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับบ้านห้างริมคลองสวนหมาก ในขณะที่ข้อมูลประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านโดยเฉพาะวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้สอยบ้านเรือนยังมีที่ว่างอีกมากให้คณะผู้วิจัยได้สืบค้นจากพื้นที่จริง การทบทวนข้อมูลเอกสารประวัติศาสตร์บางส่วนมีความน่าสนใจแต่ก็เต็มไปด้วยข้อถกเถียงและสันนิษฐานที่ยังไม่มีข้อสรุป ในขณะที่ข้อมูลบางส่วนที่ชาวบ้านในพื้นที่ยุคปัจจุบันรับรู้กันโดยทั่วไปเหมือนเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับชาวบ้านแท้จริงแล้วคือเนื้อหาในนวนิยายเรื่อง “ทุ่งมหาราช” ของ “เรียมเอง” ซึ่งเป็นนามปากกาหนึ่งของ มาลัย ชูพินิจ นักประพันธ์ซึ่งมีพื้นเพดั้งเดิมเป็นคนนครชุมและได้เขียนนวนิยายที่มีเนื้อหาย้อนยุคโดยอาศัยข้อมูลบางส่วนจากคำบอกเล่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตคนในพื้นที่มาปรุงแต่งเสมือนตัวละครได้โลดแล่นอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จริงของพื้นที่ เช่น การทำป่าไม้ ไข้ป่าระบาด ร.5 เสด็จประพาส เป็นต้น


การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลในงานวิจัยชิ้นนี้จึงเน้นไปที่การเก็บข้อมูลกายภาพอาคารทั้งองค์ประกอบภายในและผังบริเวณ ประกอบกับข้อมูลเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและประวัติการครอบครองและการใช้สอยอาคาร นำมาแสดงข้อมูลทั้งในลักษณะรูปและตัวหนังสือเพื่ออธิบาย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดได้มาโดยกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน ทั้งการสืบประวัติของครอบครัวและความสัมพันธ์ในวงศ์ญาติที่มีความเกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยในพื้นที่และอาคารที่ทำการสำรวจ และนัยสำคัญที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ความเป็นย่านนครชุมของอาคารหรือครอบครัวผู้ครอบครองอาคารนั้นซึ่งมีอิทธิพลต่อกระบวนการคัดเลือกอาคารเพื่อทำการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลจากคำบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติอาคารและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการอยู่อาศัยล้วนยึดถือตามความทรงจำของผู้ให้ข้อมูลซึ่งเป็นผู้ครอบครองอาคารในปัจจุบัน ซึ่งในบางครั้งอาจพบว่ามีข้อมูลบางอย่างที่ไม่ตรงกันกับคำบอกเล่าของสมาชิกอื่นในบ้าน แต่ทั้งนี้ในด้านประวัติศาสตร์ครอบครัวและย่านชุมชนไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยชิ้นนี้ จึงเป็นเพียงข้อมูลสำคัญที่นำมาใช้เป็นบางส่วนเพื่อประกอบการวิเคราะห์อัตลักษณ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นประเภทบ้านเรือนอยู่อาศัยของย่านนครชุมเท่านั้น


ในภาพรวมของงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้มีความต้องการที่จะรวบรัดตัดตอนนำเสนอว่าอัตลักษณ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของย่านนครชุมหรือจังหวัดกำแพงเพชรต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะว่าทุกย่านอยู่อาศัยล้วนประกอบไปด้วยความหลากหลายของกลุ่มคนที่ต่างที่มาและต่างวัฒนธรรมมาผสมผสานอยู่รวมกันและมีความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยสืบต่อมา ซึ่งประวัติศาสตร์ของพื้นที่ที่มีความผสมผสานเช่นนี้ย่อมปรากฏมาสู่รูปแบบและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมประเภทบ้านเรือนที่มีความหลากหลายด้วยเช่นกัน ดังนั้นอัตลักษณ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในที่นี้จึงต้องสะท้อนลักษณะทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่เป็นตัวตนแท้จริงของย่านนั้นด้วย และในท้ายที่สุดขอบเขตของงานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการนำเสนอแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมบ้านเรือนขึ้นใหม่เพื่อแสดงอัตลักษณ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนครชุมและกำแพงเพชร ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยกรอบการวิจัยและการทำงานทั้งการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่มากไปกว่านี้ โดยงานวิจัยดังกล่าวหากเกิดขึ้นในอนาคตอาจใช้เนื้อหาจากงานวิจัยชิ้นนี้เป็นข้อมูลเพื่อทบทวนในขั้นพื้นฐานได้