ข้อมูลของบ้านห้าง ร.5 ที่เกี่ยวข้องกับพะโป้มีหลักฐานไม่มาก การศึกษาข้อมูลจึงมุ่งเน้นไปที่บทวิเคราะห์วรรณกรรมประเภทนวนิยายเรื่อง “ทุ่งมหาราช” ของ มาลัย ชูพินิจ ในงานวิจัยของกลุ่มนักวิชาการท้องถิ่น (คือ สันติ อภัยราช และคณะ) เป็นหลัก ซึ่งแม้จะเป็นเนื้อหาในนวนิยายแต่ก็มีข้อมูลอ้างอิงเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่น่าเชื่อถือ ดังข้อความที่คัดมาจากบทวิเคราะห์ดังกล่าว เช่น
“...ดูแต่วัดพระธาตุที่ทอดทิ้งกันชำรุดทรุดโทรมมาแต่สมัยปู่ย่าตายาย ใครล่ะทำนุบำรุง ใครล่ะปฏิสังขรณ์รื้อสร้างรวมเป็นองค์เดียว แล้วยกช่อฟ้าใบระกาใหม่? ใคร? นอกจากพญาตะก่ากับพะโป้ อย่าลืมว่านั่นเป็นกะเหรี่ยงสองพี่น้อง ไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่คนพื้นเพปากคลอง ดีละพะโป้น้องพญาตะก่ากำลังสร้างคลองเหนือเป็นคลองของแก ข้าจะมาสร้างคลองใต้ให้เป็นเมืองของข้า และของเอ็ง (รื่นกล่าวกับสุดใจในการพบกันครั้งแรก หน้า 28)
...นี่เองพะโป้ผู้ยิ่งใหญ่ พะโป้ผู้มีคุณแก่ขาวกำแพงเพชรโดยทั่วไป และคลองสวนหมากโดยเฉพาะ พะโป้ผู้นำฉัตรทองแต่ตะโก้ง(เมืองย่างกุ้ง)มาประดิษฐาน ณ ยอดพระบรมธาตุเป็นสัญลักษณ์แห่งบวรพระพุทธศาสนา...(ความรู้สึกของรื่นเมื่อพบกับพะโป้ หน้า 169)
...นับแต่วินาทีแรกที่เหลือบไปเห็นว่าชายผู้นั้นเป็นใคร มิใช่รูปร่างซึ่งสมบูรณ์สมเป็นคนเจ้าเนื้อหรือการแต่งกายตามประเพณีมากไปกว่าความเป็นสง่าราศีของใบหน้า ของนัยน์ตาและผิวพรรณพะโป้ขณะนั้นล่วงเข้าวัยกลางคนแล้ว แต่สีหน้ายังเอิ่มอิ่มเหมือนคนหนุ่ม น้ำเสียงที่พูดก็แจ่มใสไพเราะเหมือนเสียงเด็ก...(รื่นพบพะโป้ครั้งแรก หน้า 165)
...นัยน์ตาอันเล็ก แต่คมวาวเหมือนเปลวไฟเหมือนประกายเหล็กกล้าของพะโป้จับอยู่ที่ใบหน้าเขาไม่วางตา...(หน้า 165)
...ฉันอยู่ปากคลองมานาน จนคนบ้านนี้ทิ้งบ้าน เมืองนี้ทั้งเมือง ถือเหมือนฉัน เป็นลูกกำแพงคนหนึ่ง...(หน้า 165)
...ปากคลองทั้งปากคลอง กำแพงทั้งกำแพง แม่ปิงทั้งแม่ปิง รู้กันแต่ว่านายห้างพะโป้เป็นคนมีเมตตา อารีแก่คนยาก เขาว่านายห้างเป็นคนยุติธรรม ใจบุญหนักแน่นไม่หูเบา...(หน้า 167)
...เขามองหน้า...นี่เองพะโป้ผู้ยิ่งใหญ่ พะโป้ผู้มีบุญคุณต่อชาวกำแพงโดยทั่วไป และคลองสวนหมากโดยเฉพาะ...(หน้า 169)
...ถามผู้ใหญ่เขาดู ถามคนรุ่นปู่รุ่นย่าตายายของคนรุ่นนี้ดูว่า นับแต่พญาตะก่ากะพะโป้มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ เคยมีใครได้รับความเดือดร้อนเพราะเขาบ้าง เปล่าเลย...(หน้า 169)”
เนื้อหาได้กล่าวถึงสภาพปากคลองสวนหมาก และกล่าวถึงบุคคลสำคัญของท้องถิ่น คือ พะโป้ และพญาตะก่า
ตามประวัติเท่าที่จะพออ้างอิงได้ ปรากฏว่ามีชาวไทยภูเขา เผ่ากะเหรื่ยงชื่อ พะโป้ จากอำเภอแม่ระมาดจังหวัดตาก ซึ่งติดกับชายแดนพม่าด้านทิศตะวันตกมีความชำนาญในการทำป่าไม้ให้กับบริษัทฝรั่งในประเทศพม่าโดยได้นำช้างไปรับจ้างชักลากไม้ จนเกิดความรู้ความชำนาญประกอบการทำป่าไม้ในสมัยนั้น ทางราชการไทยยังไม่เข้มงวดกวดขันเหมือนในปัจจุบัน ทราบจากญาติพี่น้องชาวกระเหรื่ยงด้วยกันว่า บริเวณสองฝั่งลำคลองสวนหมากเป็นป่าที่อุดมไปด้วยไม้นานาชนิด ควรที่พาญาติพี่น้องนำช้างมาประกอบการทำไม้ดูบ้างเพราะไม่ปรากฏว่ามีใครเคยทำมาก่อนเลย และเมื่อได้มาตรวจดูสภาพของป่าแล้วมีความพอใจที่จะยึดการทำไม้เป็นอาชีพได้ จึงได้ขออนุญาติกับกรมป่าไม้ขอเข้ามาทำการเก็บไม้หมอนนอนไพรเป็นครั้งแรก(ไม้ที่ล้มอยู่ก่อนแล้วโดยถูกไฟไหม้ หรือยืนต้นตายเรียกว่า ล้มหมอนนอนไพร) เมื่อได้รับอนุญาติก็ลงมือทำโดยใช้ช้างเป็นพาหนะชักลาก
พะโป้ในชีวิตจริง ตามคำบอกเล่า ของอาจารย์ กัลยา รัตนบรรพต อาจารย์สถาบันราชภัฏกำแพงเพชร หลานสาวของพะโป้
สัมภาษณ์ อาจารย์กัลยา รัตนบรรพต เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2537 เวลา 13.30 น. ได้ความว่า
พะโป้ เป็นชาวกะเหรื่ยงเข้ามาทำไม้ กับ พญาตะก่า พี่ชาย(แซงพอ) พะโป้พอรักกับอำแดงทองย้อย ลูกสาวกำนันวัน และแม่ไทย แต่งงานอยู่บ้านริมคลองสวนหมากฝั่งวัดสว่างอารมณ์ มีบุตรธิดาหลายคน เช่น 1.ป้าแกล 2. ป้าทับทิม 3.นายทองทรัพย์ ซึ่งอาจารย์กัลยา รัตนบรรพตเป็นธิดาของพ่อทองทรัพย์ (ถึงแก่กรรม) ส่วนมารดาชื่อแม่เน้ยก๊วย(ขณะนั้นยังมีชีวิตอยู่) พะโป้เสียชีวิตอายุประมาณ 50 ปีเศษ ตั้งศพที่ บ้านห้างประมาณ 3 เดือน พะโป้เป็นคนดี ใจบุญสุนทานบูรณะวัด ถึง 3 วัด คือ วัดพระบรมธาตุ วัดสว่างอารมณ์ วัดท่าหมัน หลังจากพะโป้เสียชีวิตแล้วเป็นวัดร้าง
ลักษณะนิสัยของพะโป้ จากคำบอกเล่าของแม่ก๊วย ลูกสะใภ้พะโป้ว่า
พะโป้เป็นคนใจดี แต่เป็นคนเด็ดขาดมาก บ่าวไพร่ทุกคนรักพะโป้มาก ลูกหลานทุกคนรักและยำเกรง พะโป้ไม่ใช่นิยายที่เล่าขานกันมาแต่มีตัวจริง คล้ายกับในเรื่องทุ่งมหาราชมาก
จากพระราชนิพนธ์ในการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 ของพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2449 ได้ทรงบันทึกไว้ว่า
...วันที่ 25 วันนี้ตื่นสายเพราะวานนี้ อยู่ข้างจะฟกช้ำ 4โมงจึงได้ลงเรือเหลืองข้ามฟากไปฝั่งตะวันตก ยังไม่ขึ้นที่วัดพระธาตุ เลยไปคลองสวนหมากต้องขึ้นไปไกลอยู่หน่อย ในคลองนี้น้ำไหลเชี่ยว แต่น้ำใสเพราะเป็นลำห้วย มีคลองแยกข้างขวามือ แต่ต้นทางที่จะเข้าไป เรียกว่าแม่พล้อถ้าไปตามลำคลอง 3 วันจึงถึงป่าไม้ แต่มีหลักตอมาก เขาขึ้นเดินไปทางวันเดียวถึง ป่าไม้นี้พะโป้กะเหรื่ยงในบังคับอังกฤษเป็นคนทำเมียเป็นไทยชื่ออำแดงทองย้อย เป็นบุตรผู้ใหญ่บ้านวันที่หาดกลางน้ำ...